กระทรวงเกษตรฯ ผนึกกำลัง ธ.ก.ส. คลอดโฉนดต้นยางพารา แปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุน ต่อยอดอาชีพชาวสวนยางได้อย่างยั่งยืน พร้อมขับเคลื่อนโครงการ Carbon Credit ในสวนยางพารา เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์
วันที่ 12 มกราคม 2567 ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ “การส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มสวนยางพารา และการจัดทำโฉนดต้นยางพารา” ระหว่าง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.)
โดย นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ กยท. กับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดย นายณรงค์ ขันติวิริยะกุล รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. โดยมี นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจนผู้บริหารกระทรวงการคลัง เข้าร่วม ณ ห้องประชุม 115 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายจัดทำโครงการโฉนดต้นไม้สำหรับต้นไม้ที่เป็นพืชเศรษฐกิจ เพื่อให้เกษตรกรนำไม้ยืนต้นไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้เงินกับ ธ.ก.ส. เป็นการเพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับเกษตรกร เพื่อต่อยอดอาชีพด้านการเกษตรได้อย่างยั่งยืน การร่วมมือกันของทั้งสองหน่วยงานในการจัดทำโฉนดต้นยางพาราครั้งนี้ จึงเป็นการขับเคลื่อนให้เกษตรกรชาวสวนยางสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนของสถาบันการเงินได้มากขึ้น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทั้งสองหน่วยงานจะร่วมมือกันดำเนินกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อเสริมสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางพารา อาทิ การขับเคลื่อนการดำเนินโครงการ Carbon Credit ในสวนยางพารา การส่งเสริมการขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ ซึ่งจะนำไปสู่ความกินดีอยู่ดีของเกษตรกรไทย
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรชาวสวนยางได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น กยท. จึงได้ดำเนินโครงการร่วมมือกับ ธ.ก.ส. บรรจุต้นยางพาราให้เป็นไม้ชนิดหนึ่งในระบบค้ำประกันเงินกู้ และดำเนินการจัดทำโฉนดต้นยางพาราเพื่อใช้เป็นหลักประกันเงินกู้จาก ธ.ก.ส. ซึ่งเกษตรกรที่สามารถขอรับโฉนดต้นยางจะต้องขึ้นทะเบียนกับ กยท. และมีสวนยางตั้งอยู่บนดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย ถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการแปลงทรัพย์สินให้เป็นทุนสำหรับการประกอบอาชีพการทำสวนยาง
โดยใช้โฉนดต้นยางพาราเป็นเอกสารประกอบการขอรับบริการสินเชื่อจากสถาบันการเงินที่ให้บริการ โดย กยท. จะเป็นผู้ประเมินราคาต้นยางพาราที่จะนำมาใช้เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อกับ ธ.ก.ส. และจัดทำโฉนดต้นยางพาราเพื่อเป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาขอสินเชื่อของ ธ.ก.ส. ทุกครั้ง ทั้งนี้ จะผลักดันให้สามารถใช้ได้กับธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ตลอดจนใช้เป็นหลักทรัพย์ประกันตัวในชั้นพนักงานสอบสวน โดยจะเร่งบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่รับผิดชอบทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ต่อไปโดยเร็ว
“ภายหลังจากการ Kick off มอบโฉนดเพื่อการเกษตร ที่จะมีขึ้นในวันที่ 15 ม.ค.นี้ กระทรวงเกษตรฯ เตรียมเดินหน้าขยายผลในทุก ๆ เรื่องไม่ใช่เฉพาะต้นไม้ เพราะสินทรัพย์ของพี่น้องเกษตรกรต้องมีราคา สร้างมูลค่าได้ ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดต้องแปลงทรัพย์สินให้เป็นทุน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดียิ่งขึ้น ในส่วนของไม้เศรษฐกิจที่เล็งเห็นเพิ่มเติมที่มีมูลค่าสูง เช่น ไม้พะยูง ไม้ตะเคียน และไม้ยางนา รวมถึงไม้พืชผลทุกประเภท เช่น ต้นทุเรียน ต้นมะม่วง อีกด้วย” ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าว
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ กยท. กล่าวเพิ่มเติมว่า บทบาทและแนวทางความร่วมมือของ กยท. หลังจากลงนาม MOU ร่วมกันในครั้งนี้ กยท. และ ธ.ก.ส. จะมีการอบรมผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ทั่วประเทศ ให้มีความรู้เรื่องวิธีการประเมินมูลค่าไม้ยางพารา เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของทั้งสองหน่วยงานร่วมกันประเมินมูลค่าไม้ยางพาราสำหรับใช้เป็นหลักประกันเงินกู้ นอกจากนี้ กยท. และ ธ.ก.ส. จะร่วมกัน บูรณาการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ นวัตกรรม และพัฒนาศักยภาพด้านการส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินโครงการ Carbon Credit ในสวนยาง ส่งเสริมให้เกษตรกรร่วมกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกสร้างสมดุลเชิงนิเวศ ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากการขายผลผลิตจากยางพาราเพียงอย่างเดียว
นายณรงค์ ขันติวิริยะกุล รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า การร่วมมือกับ กยท. ในครั้งนี้ นับว่าเป็นประโยชน์กับและธ.ก.ส. เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางพาราและบุคลากรของ ธ.ก.ส. เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำนวัตกรรมไปพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิต การส่งเสริมการจัดทำโฉนดต้นยางพารา เพื่อใช้เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อกับ ธ.ก.ส. นอกจากนี้ ธ.ก.ส. และ กยท. พร้อมร่วมกันขับเคลื่อนภารกิจสีเขียวตามนโยบายด้านการสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้หลักการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ที่มีการส่งเสริมให้เกษตรกรนำสวนยางพาราไปขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program : T-VER) รวมถึงเข้าร่วมโครงการ BAAC Carbon Credit ที่จะช่วยสร้างอาชีพเสริมและสร้างรายได้ให้เกษตรกร ซึ่ง ธ.ก.ส. เตรียมเปิดตัวการจำหน่ายคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้เต็มรูปแบบอย่างเป็นทางการในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ที่ธนาคารต้นไม้บ้านท่าลี่และบ้านแดง จังหวัดขอนแก่น