“ไชยา” ชู “นโยบายพักชำระหนี้” หวัง “ช่วยเหลือเกษตรกร” ลั่น เตรียม Kick Off ส่ง “โคมีชีวิต” ผ่านทางเรือไป “จีน” ครั้งแรก ตั้งเป้า “อาชีพเกษตรกรรมยุคใหม่ ต้องสร้างรายได้-เป็นหลักประกันในชีวิต-สังคม”
วันที่ 24 ม.ค.2567 ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ ถนนรางน้ำ เขตราชเทวี กรุงเทพฯ ในงานสัมมนา “Thailand 2024 The Great Challenge เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส” นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมปาฐกถาภายใต้หัวข้อ “ลดราย-จ่ายลดเหลื่อมล้ำ” โดยในบางช่วงบางตอน นายไชยากล่าวว่า “เวลาพูดถึงเรื่องหนี้ จะนึกถึงเกษตรกร ที่ทำอาชีพเกษตรกรรมมาค่อนชีวิตแต่ไม่รวยเพราะมีหนี้เนื่องจากการกู้ ซึ่งปัญหานี้แก้ไขไม่จบสิ้น ดังนั้น นโยบายพักชำระหนี้ จึงเป็นนโยบายที่ให้โอกาสเกษตรกรที่ด้อยโอกาสในสังคม โดยต้องยอมรับว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศมีอาชีพ “เกษตรกรรม เป็น เกษตรกร” ทำไร่ทำนาอยู่ในภาคการเกษตรมาตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่าจนมาถึงปัจจุบัน แต่ชีวิตความเป็นอยู่ก็ยังลำบาก ดังวลีที่ว่า “ทุกข์ของชาวนาคือทุกข์ของแผ่นดิน” เรื่องนี้ถือเป็นภาระของรัฐบาล
ทั้งนี้ นโยบายพักชำระหนี้ของเกษตรกร ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหา โดยนโยบายนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในสมัยนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จนมาถึงวันนี้ในสมัยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ถือเป็นการให้โอกาสประชาชนที่อยู่ในสภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ เจอสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงสงครามการค้า ที่เกษตรกรหรือแม้แต่ SME ก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน
“นโยบายพักรับชำระหนี้ คือการยืดเวลาการหายใจให้เกษตรกร โดยต้องการเห็นองคาพยพ คือ ธ.ก.ส. และ หน่วยงานในกระทรวงเกษตรฯ จับมือกัน”
ส่วนด้านการสร้างรายได้ให้เกษตรกร นายไชยา กล่าวว่า เตรียมเปิดตลาดสินค้าส่งออก โดยจะ Kick Off ส่งโคที่มีชีวิตไปต่างประเทศ จากที่ปัจจุบันที่มี การส่งออกโดยใช้รถยนต์ผ่านทางชายแดน โดยการ Kick Off ที่จะเกิดขึ้นนี้ จะเป็นการส่งออกโคมีชีวิต “ทางเรือ” ครั้งแรก ซึ่งนายกฯ ได้ไปเปิดตลาดกับทางประเทศจีนมาก่อนหน้านี้ แต่ถูกกีดกันว่าประเทศไทยมีการระบาดของโรคปากเปื่อยเท้าเปื่อยในสัตว์ ทำให้ต้องเปลี่ยนเส้นทางไปยัง สปป.ลาว ซึ่งใช้เวลากักกันโรคประมาณ 45 วัน แต่วันนี้เราต้องการส่งตรงไปยังจีนโดยผ่านทางเรือเพื่อร่นระยะเวลา นอกจากนี้ จะทำการแปรรูปเนื้อโคเป็นสินค้าพรีเมี่ยม เพื่อเพิ่มรายได้และขยายโอกาสให้กับเกษตรกร ทั้งนี้ ตั้งเป้า Kick Off ไม่เกินเดือนมีนาคม 2567
นายไชยา กล่าวทิ้งท้าย ว่า “ชีวิตของเกษตรกรในหยุดนี้ จะต้องเป็นเกษตรยุคใหม่ที่มีคุณภาพ และอาชีพเกษตรกรรมจะต้องเป็นอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ และเป็นหลักประกันในสังคม ในชีวิตให้ได้”