“หอการค้าฯ” จับมือ “เครือข่าย 5 จังหวัดนำร่อง” เดินหน้าสร้างเกษตรมูลค่าสูง ส่งต่อแนวคิด BCG สู่เกษตรยั่งยืน
นายชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการเพิ่มมูลค่าพืชเกษตร เปิดเผยว่า หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยคณะกรรมการเพิ่มมูลค่าพืชเกษตร ได้รับนโยบายจาก นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนและยกระดับภาคเกษตรและอาหาร โดยได้ดำเนินโครงการส่งเสริมเกษตรมูลค่าสูงระดับพื้นที่ (Area-based) ร่วมกับ หอการค้าจังหวัด, บจก.สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น, ห้างค้าปลีก-ค้าส่ง, มหาวิทยาลัย และหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่จังหวัดเป้าหมาย เพื่อให้เกิดผลในการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำการเกษตรแบบเดิม สู่การทำการเกษตรมูลค่าสูงให้ได้ 10% ซึ่งได้กำหนด 5 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ ชัยนาท เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ อุบลราชธานี และพัทลุง
ทั้งนี้ ในปี 2566 หอการค้าไทย ได้ลงพื้นที่จังหวัดชัยนาทและเพชรบูรณ์ ซึ่งได้เกิดความร่วมมือระดับพื้นที่อย่างชัดเจน อาทิ จังหวัดชัยนาท ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนเกษตรมูลค่าสูงจังหวัดชัยนาท ซึ่งมีการยกระดับเกษตรมูลค่าสูง 3 ด้าน (พืช ประมง และปศุสัตว์) ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้มีการจับคู่ธุรกิจระหว่างห้างค้าปลีกกับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกข้าวหอมมะลิหนองผักบุ้งพัฒนา ในการนำสินค้าเกษตรแปรรูป “กล้วยฮักมะขามและกล้วยบาร์บีคิว” ไปขายสร้างรายเพิ่มให้กับเกษตรกรในพื้นที่จังหวัด
นอกจากนี้ หอการค้าไทยได้ลงพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ เพื่อหารือแนวทางการพัฒนาและขับเคลื่อนเกษตรมูลค่าสูงในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ ร่วมกับ นางสาวอรอาภา โล่ห์วีระ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ พร้อมด้วยส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 ณ วิสาหกิจชุมชน กลุ่มปลูกพืชปลอดภัยบ้านท่าเดื่อ ทั้งนี้ จากการประชุมฯ จังหวัดชัยภูมิได้คัดเลือกสินค้าเกษตรมูลค่าสูงของจังหวัดเป็น “Product Champaign” อาทิ อ้อยโรงงาน, โคเนื้อเกรดพรีเมี่ยม, ส้มโอทองดีบ้านแท่น, กล้วยหอมทองหนองบัวแดง, มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง, มะขามศรีภักดี, ถั่วเหลือง เพื่อมาสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเป็นสินค้าต้นแบบความร่วมมือในการยกระดับเกษตรกร สร้างมูลค่าเพิ่ม และส่งเสริมด้านการตลาดของสินค้าเกษตรให้ครอบคลุมทุกมิติ พร้อมทั้งเห็นชอบให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานฯ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการบูรณาการทำงานระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
อีกทั้ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ และ หอการค้าไทย ได้ร่วมพบปะกับกลุ่มเกษตรกร จากวิสาหกิจชุมชน ได้แก่ กลุ่มปลูกพืชปลอดภัยบ้านท่าเดื่อ, กลุ่มทำนาประณีตข้าวอินทรีย์ศรีสำราญ และกลุ่มผู้ปลูกข้าวปลอดสารเพื่อสุขภาพ ต.บ้านเม็ง ซึ่งมีสมาชิกรวม 178 ราย มีพื้นที่รวม กว่า 2,293 ไร่ ส่วนใหญ่ ทำการเพาะปลูกข้าว เมล็ดพันธุ์ข้าว และพืชผักอินทรีย์อื่นๆ อาทิ แตงโมออแกนิก, พริกเกษตรสมบูรณ์, มะเขือเปราะ, ถั่วฝักยาว, ฟักแฟง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นพืชที่มีความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ
สำหรับการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมเกษตรมูลค่าสูงในครั้งนี้ หอการค้าไทย ยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความยั่งยืนในภาคเกษตร หรือ Sustainable โดยได้รณรงค์ไม่เผาซังตอหรือเศษพืชทางการเกษตรเพื่อไม่ให้เกิดฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของประเทศในปัจจุบัน ภายใต้เครือข่ายความร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชนต่างๆ ร่วมกับ บจก.สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น ด้วยการส่งเสริมความรู้ และสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตรเครื่องอัดฟาง โดยคาดว่าปี 2567 โครงการนี้จะช่วยลดคาร์บอน 2,654 ตันคาร์บอน เพิ่มรายได้ให้วิสาหกิจชุมชน 20% ซึ่งเป็นการช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกร และสอดคล้องกับนโยบาย BCG เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนของประเทศ
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ได้เข้าเยี่ยมชมพื้นที่ต้นแบบโครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ของกลุ่มมิตรผล ณ วิสาหกิจชุมชนปลูกผักปลอดสาร บ้าน กม.52 อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกผักปลอดภัย บ้านกุดหัวช้าง อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ ซึ่งมุ่งสนับสนุนและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้และการเข้าถึงโอกาส เช่น โอกาสในการศึกษาเรียนรู้ การพัฒนาทักษะการประกอบอาชีพ รวมทั้ง โอกาสในกระบวนการมีส่วนร่วม ทั้งการสร้างพื้นฐานทางความคิด และเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อก้าวสู่การสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน ด้วยแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิต ในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สู่การยกระดับเป็นชุมชนเข้มแข็ง ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
#หอการค้าไทย #สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย #SUSTAINABLE #เกษตรมูลค่าสูง #BCG #เกษตรยั่งยืน #MissionThailand