ททท. พร้อมผลักดันการท่องเที่ยวจังหวัดพะเยา ชูแนวคิด “สุขกาย สุขใจ สุขวิถี” มุ่งส่งเสริมการท่องเที่ยว “Wellness” พร้อมต่อยอดการท่องเที่ยวสายศรัทธา ยกระดับวัฒนธรรมประเพณีชุมชนและอาหารท้องถิ่นสู่สากล
วันที่ 19 มี.ค. 2567 ณ หอประชุมพญางำเมือง มหาวิทยาลัยพะเยา อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร ครั้งที่ 2/2567 ที่จะจัดขึ้นที่ จ.พะเยา ระหว่างวันที่ 18 – 19 มีนาคม 2567 โดยที่ประชุมเห็นชอบให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เร่งจัดทำสำนักงานท่องเที่ยวประจำจังหวัด และศึกษาถึงการประกาศให้จังหวัดพะเยาเป็นพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ขานรับนโยบายของรัฐบาลในการผลักดันการท่องเที่ยวจังหวัดพะเยา ด้วยแนวคิด สุขกาย สุขใจ สุขวิถี พร้อมบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐทุกภาคส่วนเพื่อต่อยอดส่งเสริมการตลาดและประชาสัมพันธ์สินค้าท่องเที่ยวให้สามารถเที่ยวไทยได้ทั้ง 365 วันตามนโยบายของรัฐบาล
นางสาวฐาปนีย์ กล่าวว่า ททท. จะส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดพะเยาผ่านแนวคิด สุขกาย สุขใจ สุขวิถี โดยสำหรับสุขกายจะส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสวยงามทางธรรมชาติ อาทิ อุทยานแห่งชาติภูลังกา พิชิตผาหัวเรือ บ่อ 12 สุขใจ – มุ่งส่งเสริมการท่องเที่ยวเส้นทางตามรอยศรัทธา อาทิ พระเจ้าตนหลวง วัดศรีโคมคำ ท้าวเวสสุวรรณ วัดอนาลโย พระเจ้าทันใจ วัดศรีชุม ตามหาเทพแห่งความรัก วัดนันตาราม อ.เชียงคำ ขณะที่สุขวิถี – ยกระดับอาหารท้องถิ่นสู่ระดับอินเตอร์ นำเสนออย่างสร้างสรรค์ เช่น ผลิตภัณฑ์ GI เช่น ลิ้นจี่แม่ใจ ข้าวหอมมะลิพะเยา พร้อมชูวิถีชุมชนที่โดดเด่น แหล่งท่องเที่ยวที่แสดงวัฒนธรรมท้องถิ่น ชุมชนบ้านบัวและ ชุมชนไทลื้อที่อำเภอเชียงคำ และประเพณีท้องถิ่นต่าง ๆ สะท้อนวิถีชาวพุทธ ความเชื่อ ศรัทธา อาทิ ประเพณีแปดเป็ง ไหว้สาจาปูจาพระเจ้าตนหลวง สืบสานป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองพะเยา ประเพณีเวียนเทียนกลางกว๊านพะเยา ประเพณีสืบสานตำนานไทลื้อ เทศกาล “โฮ่มฮีต โตยฮอย ร้อยใจไทลื้อ” ที่มีอัตลักษณ์โดดเด่น ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของชุมชนจนเป็นจุดเด่นของเมืองพะเยา โดยได้ออกแบบเส้นทางนำร่อง 4 เส้นทางท่องเที่ยวแห่งความสุข 1) เส้นทางท่องเที่ยว “อ้อมกอดพะเยาสุขกาย” 2) เส้นทางท่องเที่ยว “พะเยาเสริมบุญ สุขใจ” 3) เส้นทางท่องเที่ยว “ของกิ๋นล้ำลำ เมืองพะเยา” และ 4) เส้นทางท่องเที่ยว “วิถีริมกว๊านพะเยา” พร้อมเสนอขายร่วมกับกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ น่าน พะเยา สำหรับตลาดยุโรปที่มีระยะวันพักนาน และพร้อมบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐทุกภาคส่วนเพื่อต่อยอดส่งเสริมการตลาดและประชาสัมพันธ์สินค้าท่องเที่ยวให้สามารถเที่ยวไทยได้ทั้ง 365 วันตามนโยบายของรัฐบาล
นอกจากนี้ พร้อมส่งเสริมให้สายการบินมีเที่ยวบินมาใช้บริการที่สนามบินพะเยา ซึ่งอาจเป็นรูปแบบเครื่องบินขนาดเล็กเหมือนกับที่มีบางสายการบินเปิดเส้นทางการบินใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เชื่อมการเดินทางกับสงขลา และปีนัง ซึ่งจะมีความเหมาะสมกับพื้นที่และจะช่วยส่งเสริมศักยภาพทางด้าน Wellness ของจังหวัดพะเยา ซึ่งมีโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยพะเยาที่มีความพร้อมในการรองรับผู้ใช้บริการจากจังหวัดใกล้เคียง และประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สปป.ลาวที่มีแนวโน้มสนใจเดินทางมาเพื่อรักษาพยาบาลเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ สำหรับการส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาคภาคเหนือ ซึ่งในระยะหลังนี้ พบว่าประเทศไทยมีฤดูฝนที่สั้นลง ทำให้ปัญหาหมอกควัน PM 2.5 มาเร็วและมีระยะเวลายาวขึ้น ททท. จึงได้วางแผนร่วมกับพันธมิตรสายการบินส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยโครงการวันธรรมดาน่าเที่ยวในช่วงต้นฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน และปลายฤดูฝน เพื่อเพิ่มโอกาสและช่วงเวลาในการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยว
ภาพรวมสถานการณ์ท่องเที่ยวจังหวัดพะเยา ปี 2566 มีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนรวมทั้งสิ้น 1,009,648 คน-ครั้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.29 เมื่อเทียบกับปี 2565 และเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 50 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562 ก่อนสถานการณ์โควิด-19 โดยแบ่งเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทย 966,706 คน-ครั้ง นักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางท่องเที่ยว จ.พะเยา สูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง กรุงเทพฯ และ น่าน ตามลำดับ และนักท่องเที่ยวต่างชาติ 42,942 คน-ครั้ง โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยว จ.พะเยา สูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ จีน ฝรั่งเศส อเมริกา ญี่ปุ่น และลาว ตามลำดับ ขณะที่จังหวัดพะเยามีรายได้จากการท่องเที่ยวรวม 2,292 ล้านบาทในปี 2566 เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.92 จากปี 2565
#ฐาปนีย์เกียรติไพบูลย์ #ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย #ททท #การท่องเที่ยวจังหวัดพะเยา #สุขกายสุขใจสุขวิถี #ครมสัญจรพะเยา #ข่าวท่องเที่ยว #ข่าวการเมือง #MissionThailand