“พล.อ.ประวิตร”ดันไทยถกคณะมนตรีคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงไทยเป็นเจ้าภาพ 25 พ.ย. 64 รับมือระบบนิเวศเปลี่ยน ป้องกระทบชุมชน
เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ครั้งที่ 2/2564 โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมด้วยผู้แทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุมผ่านระบบ วิดีโอคอนเฟอเรนซ์
พล.อ.ประวิตรฯ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เพื่อติดตามผลการดำเนินงาน ที่ผ่านมาในการพัฒนาลุ่มน้ำโขงทั้งในและตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ อาทิ ความก้าวหน้าการเร่งศึกษา แนวทางการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศแม่น้ำโขงต่อวิถีชีวิตของประชาชนในลุ่มแม่น้ำโขง อย่างเข้มข้นและต่อเนื่องร่วมกับภาคประชาชนและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และจัดทำแผนป้องกันและบรรเทาผลกระทบ โดยมอบหมายให้ สทนช. เร่งเสนอแผนงานโครงการที่มีความพร้อมและดำเนินการได้ต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) พิจารณาโดยเร็ว รวมถึงที่ประชุมมีมติเห็นชอบปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย
เพื่อให้การให้ข้อคิดเห็นด้านวิชาการที่สืบเนื่องจากการพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขง และการพิจารณากำหนดท่าทีของฝ่ายไทยในการประชุมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงการดังกล่าว เป็นไปอย่างรอบคอบ รัดกุม และครอบคลุมทุกมิติ ซี่งได้มีการปรับปรุงบทบาทและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย และองค์ประกอบของผู้แทนไทยในคณะมนตรีและคณะกรรมการร่วมในคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง โดยที่ประชุมมีมติมอบหมายให้ สทนช. เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาต่อไป
ที่สำคัญในการประชุมยังได้เห็นชอบจัดการประชุมคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 28 ซึ่งประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม ในวันที่ 25 พ.ย. 64 ที่จะถึงนี้ โดยเป็นการประชุมในรูปแบบผสม ทั้งการประชุมที่ประเทศไทย ซึ่งเป็นไปตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด และการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยจะมีประเทศสมาชิกทั้ง 4 ประเทศเข้าร่วมประชุม ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ราชอาณาจักรกัมพูชา และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เพื่อหารือและกำหนดนโยบายความร่วมมือในการบริหารองค์กรของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง และกำหนดแนวทางความร่วมมือกับประเทศ คู่เจรจา รวมถึงหุ้นส่วนการพัฒนาและองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง โดยมีประเด็นหารือที่สำคัญ อาทิ การรายงานความก้าวหน้าของแผนงานที่สำคัญต่าง ๆ ได้แก่ แผนการดำเนินงานในปี 2564 – 2565 ความก้าวหน้าการตรวจสอบและจัดตั้งเครือข่ายในการติดตามแม่น้ำสายหลัก และสภาพอุทกอุตุนิยมวิทยาในลุ่มน้ำโขงตอนล่างช่วงฤดูฝน เป็นต้น
ดร.สุรสีห์ฯ กล่าวว่า รองนายกรัฐมนตรียังได้สั่งการให้ สทนช.ติดตามสถานการณ์น้ำโขงอย่างใกล้ชิด เนื่องจากในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้พบว่ายังมีปริมาณฝนในแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขา รวมถึงกำชับให้ สทนช. และกระทรวงการต่างประเทศ ประสานความร่วมมือ แลกเปลี่ยนข้อมูลการระบายน้ำจากเขื่อนในแม่น้ำโขงอย่างใกล้ชิด ผ่านกรอบความร่วมมือกับประเทศจีน และ สปป.ลาว ซึ่งได้มอบหมายให้ สทนช. เป็นหน่วยงานหลักในการแจ้งข้อมูลข่าวสารผ่านคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดและภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง กรณีสถานการณ์น้ำ มีความเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นช่วงรอยต่อปลายฤดูฝนต่อเข้าสู่ฤดูแล้ง ที่อาจจะส่งผลกระทบกับ 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขง เพื่อให้หน่วยงานเกี่ยวข้องเตรียมแผนป้องกันก่อนเกิดผลกระทบ พร้อมทั้งให้ สทนช.กำกับ ติดตาม ความก้าวหน้าการก่อสร้างสถานีอุตุ-อุทกวิทยาของ 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขง เพื่อการติดตามและการเก็บข้อมูลของระดับน้ำและปริมาณน้ำฝน ซี่งพบว่า ยังคงเหลือ 2 สถานีในพื้นที่ 2 จังหวัด คือ จังหวัดบึงกาฬและอำนาจเจริญ ที่ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำและกรมเจ้าท่าเร่งดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ เพื่อประโยชน์ในการติดตามสถานการณ์น้ำโขงได้อย่างอย่างครอบคลุมและทันต่อสถานการณ์ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและหน่วยงานในพื้นที่