‘ผู้กองธรรมนัส’ ร่วมลงพื้นที่สมุทรสงคราม กับนายกฯ ‘เศรษฐา’ เพื่อรับฟังปัญหาจากตัวแทนผู้ประกอบการประมง ที่ได้รับถึงผลกระทบจากประกาศของ IUU และหาแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมง
วันที่ 1 กันยายน 2566 เมื่อเวลา 10.15 น. ที่ท่าเทียบเรือ โรงน้ำแข็งสิริไพโรจน์จ.สมุทรสงคราม
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ พร้อมด้วย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่าเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) และว่าที่ รมว.เกษตรและสหกรณ์,นายไผ่ ลิกค์ว่าที่ รมช.พาณิชย์ ร่วมลงพื้นที่ นอกจากนี้ยังมี นางมนพร เจริญศรี ว่าที่ รมช.คมนาคมและคณะทำงานด้านการประมงของพรรคเพื่อไทย อาทิ นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกฯ นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส. บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ลงพื้นที่ เพื่อรับฟังปัญหาจากตัวแทนชาวประมงในพื้นที่ ที่ได้รับถึงผลกระทบจากประกาศของ IUU และแนวทางในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมง มีนายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม รอให้การต้อนรับ
ทันทีที่มาถึง นายกฯ และคณะได้เดินไปยังบริเวณท่าเรือเพื่อดูเรือประมงที่จอดไว้โดยไม่สามารถออกไปทำประมงได้ รวมถึงดูการขึ้นปลา และการตรวจนับลูกเรือที่ออกไปทำประมงที่มีความสำคัญ หากไม่เป็นไปตามที่ IUU กำหนดจะถูกปรับเป็นเงินจำนวนมาก
โดย นายเศรษฐา กล่าวทักทายประชาชน ว่า วันนี้ตนมาในอีกสถานะหนึ่ง ตอนมาหาเสียงเลือกตั้งได้มาพูดคุยเรื่องการประมงที่เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ก่อนมี IUU ไทยส่งออกสินค้าด้านการประมง 3.5 แสนล้านบาท แต่ตอนนี้เรานำเข้า 1.5 แสนล้านบาททำให้เราเสียหายจำนวนมาก วันนี้พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล เรามั่นใจว่าที่รัฐมนตรี ที่มาด้วยกันวันนี้มีความสามารถ มีความรู้ทำงานเรื่องการประมงมานาน เราต้องการแก้ปัญหาอย่างบูรณาการ ทั้งกฎหมายภายใน และการเจรจาระหว่างประเทศควบคู่กันไป
จากนั้นตัวแทนกลุ่มประมงได้สะท้อนปัญหาการทำประมงแก่นายกฯ และคณะ เช่นขอให้แก้กฎหมายต่างๆ ที่เป็นปัญหาต่อการทำประมง จำนวน 13 ฉบับ ที่จะสามารถทำให้การประมงสามารถขับเคลื่อนได้ และขอให้การบังคับใช้แรงงานต่างด้าวในภาคประมงเหมือนกับแรงงานต่างด้าวที่ทำงานบนฝั่งที่ภาคประมงจะใช้เวลานานรวมถึงเสนอว่าการขึ้นค่าแรงที่จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ขอให้ทำทีละขั้นไม่ให้ภาคธุรกิจสะดุด
โดยนายเศรษฐา กล่าวว่า ได้เห็นถึงความลำบากและปัญหา ตั้งแต่ตนรับสนองพระบรมราชโองการมา ไปดูเรื่องการท่องเที่ยว การแก้ปัญหาหนี้สิน และเรื่องที่สามคือเรื่องประมง เป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลจะให้ความสำคัญสูงสุด เรื่องปัญหาแรงงานเราจะแก้ปัญหา ให้เอกสารอยู่ในวันสต๊อปช็อปได้ อะไรอยู่ในอำนาจคณะรัฐมนตรี จะตั้งคณะทำงานขึ้นมาให้ ร.อ.ธรรมนัส เป็นหัวหน้า และเชิญผู้เกี่ยวข้องมาพูดคุยกัน หลายอย่างอาจทำไม่ได้ในคราวเดียว ขอให้อดทน และขอให้มั่นใจรัฐบาลเพื่อไทยอะไรทำได้เราจะทะยอยทำไปก่อนเพื่อให้ท่านลืมตาอ้าปากได้ เรื่องใหญ่ๆ อย่างเช่นเรื่องน่านน้ำ ที่ประเทศอินโดนีเซีย มีทรัพยากรเยอะมาก แต่ไม่มีความสามารถในการจับสัตว์น้ำ ดังนั้นขอให้ความมั่นใจเราจะเดินหน้าเต็มที่ในการเปิดประตูการค้า ซึ่งเป็นเรื่องที่ตนให้ความสำคัญ
จากนั้น นายเศรษฐา ให้สัมภาษณ์ กรณีการจัดการวันสต็อปช๊อปว่า ต้องให้คณะทำงานดูก่อน วันนี้มาดูแล้วเห็นปัญหาว่าแรงงานที่จะทำงานต้องมีเอกสารจำนวนมาก มีหลายกระทรวงเข้ามาเกี่ยวข้อง หากเอกสารขาดก็เห็นใจ อีกทั้งเอกสารต่างๆก็ยังเป็นกระดาษก็อยากให้เข้าระบบออนไลน์ทั้งหมดเพื่อความสะดวก และในแง่การตรวจก็จะดีขึ้น
เมื่อถามว่าที่ระบุให้ ร.อ.ธรรมนัส เป็นผู้ดูแลเรื่องประมง จะดูแลเฉพาะเรื่องประมง หรือหมายรวมไปถึงเรื่องเกษตรทั้งหมด นายเศรษฐา กล่าวว่า เมื่อเป็นว่าที่ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ก็ต้องดูทั้งหมดด้วย และจากที่ตนเรียนไป สัปดาห์ก่อนไปดูเรื่องท่องเที่ยว ตามด้วยเรื่องการแก้ปัญหาหนี้สิน เรื่องประมงเป็นเรื่องที่ 3 ที่ตนมาดูเอง เชื่อว่าเรื่องนี้เราพร้อมช่วยเหลือเต็มที่ เข้ามาทำงานร่วมกับผู้ประกอบการและจัดการแก้ปัญหาโดยเร็วยอมรับว่าปัญหาใหญ่ปัญหาเยอะ อะไรที่ทำได้เราจะทำก่อน
เมื่อถามว่าเท่าที่รับฟังปัญหาอะไรทำได้ทำทันที นายเศรษฐา กล่าวว่าขอพิจารณา อะไรที่เกี่ยวกับกฎกระทรวงทบวงกรม หรือเข้าคณะรัฐมนตรี และต้องเจรจาการค้าระหว่างประเทศก็อาจจะนานหน่อย เช่นเรื่องวิทยุมดขาว มดดำ (วิทยุสื่อสารระหว่างเรือประมง) ที่เพิ่งมีการบังคับใช้ในระยะหลังทั้งทีเรามีการสื่อสารทางวิทยุกันอยู่แล้ว
เมื่อถามถึง พ.ร.บ.บริหารจัดการแรงงานต่างด้าว มาตรา 14 ที่เป็นปัญหาสำหรับแรงงานต่างด้าวจะสามารถแก้ได้ทันทีหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่าต้องศึกษาร่วมกับกระทรวงแรงงานด้วย เพราะเป็นเรื่องใหญ่ ต้องมาพูดคุยกันทุกฝ่าย
เมื่อถามว่า น่านน้ำอินโดนิเซีย จะสามารถเข้าไปเจรจาได้เลยหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ขอดูก่อน แต่ถือเป็นประเทศอาเซียนด้วยเหมือนกัน และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเราและไม่ถึอว่าแย่งกันทำงาน เพราะเขามีทรัพยากร เรามีความรู้ทางการทำประมง ถ้ามาร่วมกันได้กันแบ่งปันผลประโยชน์ก็น่าจะลงตัวและเดินหน้าด้วยกันได้
เมื่อถามว่าที่มามุ่งปัญหาประมงเพราะปัญหา 8-9 ปีทำให้ประเทศติดหล่มใช่หรือไม่นายเศรษฐา กล่าวว่า ประเทศเสียหายรายได้เป็นจำนวนปีละ 5 แลนล้านผ่านมากี่ปีแล้วเป็นเงินเท่าไหร่ เราก็ต้องมาแก้ไขเดินหน้าดีกว่า อย่ามองเรื่องปัญหาเก่า อย่าไปว่าใครเลยดีกว่า และมั่นใจว่ากฎหมายต่างๆ ที่ผู้ประกอบการประมงเสนอมา มั่นใจสามารถแก้ไขได้ ต้องฝาก ร.อ.ธรรมนัส เป็นผู้รับผิดชอบ
นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องค่าแรงที่ทางผู้ประกอบการบอกว่าจะหมุนเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งเรื่องค่าแรงเป็นนโยบายหลักของทุกพรรค การขึ้นค่าแรงก็ต้องระมัดระวังในการขึ้น เพราะเป็นการขึ้นภาระค่าใช้จ่ายของทุกภาคส่วน แต่มีความจำเป็นเพราะค่าครองชีพสูงขึ้น แต่ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดคือการเน้นเพิ่มรายได้ถ้าเราเพิ่มรายได้ให้เอสเอ็มอีได้ เขาก็จะสามารถเพิ่มค่าแรงได้ ซึ่งจะเร่งทำทันทีก็อาจจะช่วงปีใหม่แต่ต้องคุยกับพรรคร่วมอีกครั้ง เพราะเราทำงานเป็นรัฐบาลที่มีพรรคร่วม
เมื่อถามว่าลักษณะการทำงานของนายกฯ หลังจากนี้จะไปควบคู่กับรัฐมนตรีที่มาจากพรรคต่างๆ ใช่หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่าเป็นธรรมดา ที่ต้องร่วมกับรัฐมนตรี อยากให้มองเป็นองค์รวมว่าไม่ใช่รัฐบาลของพรรคเพื่อไทย แต่เป็นรัฐบาลของประชาชนประกอบกับหลายพรรคการเมือง เชื่อว่าทุกรัฐมนตรีที่ได้รับการพูดถึงทุกท่านมีความเป็นห่วงปัญหาปากท้องของประชาชนและมีความปรารถนาดีของประเทศ ขอแค่โอกาส
จากนั้นสื่อมวลชนได้สัมภาษณ์ ร.อ.ธรรมนัส ในฐานะที่จะรับตำแหน่ง ว่าที่ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ว่าได้เห็นภาระงานที่นายกฯ มอบให้แล้วหนักใจหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า เป็นสิ่งที่ตนทำให้ชาวประมง มาโดยตลอดอยู่แล้ว ในช่วงที่ตนเป็นอนุกรรมการแก้ไขความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน
เมื่อถามว่า มั่นใจหรือไม่ว่าจะเดินหน้าแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องชาวประมง ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า ทันทีที่มีการโปรดเกล้าฯ ตนจัดตั้งคณะกรรมการร่วมในทันที
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมง จากนั้น นายกฯ พร้อมด้วย ร้อยเอกธรรมนัส และคณะ ได้รับประทานอาหารกลางวันร่วมกันภายในเต้นท์รับรอง ซึ่งเมนูอาหารประกอบด้วย แกงเขียวหวานลูกชิ้นปลากราย ผัดกระเพราทะเล และปลาทูทอดหวาน โดยนายกฯและคณะได้ต่อคิวรอตักอาหารเพื่อมารับประทานอย่างเป็นกันเอง