“รมว.ธรรมนัส” เผย ประชาพิจารณ์ (ร่าง) ระเบียบ คปก. 3 ฉบับ ผ่านฉลุย พร้อม Kick Off แจก “โฉนดเพื่อการเกษตร” ฉบับแรก 15 ม.ค. 67
วันที่ 23 พ.ย. 2566 ที่ห้องประชุมไชยงค์ ชูชาติ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินการเปลี่ยนพื้นที่ ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) ครั้งที่ 7/2566 โดยมีนายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมได้ร่วมพิจารณา (ร่าง) ระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อดำเนินการปรับปรุงสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร จำนวน 3 ฉบับ ประกอบด้วย 1) ร่างระเบียบ คปก. ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการคัดเลือกและจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร การโอนหรือตกทอดทางมรดก สิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อ และการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินของเกษตรกรที่ได้รับที่ดิน (ฉบับที่…) พ.ศ. … (ร่างระเบียบคัดเลือก) 2) ร่างระเบียบ คปก. ว่าด้วยการให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรผู้ได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมปฏิบัติเกี่ยวกับการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน (ฉบับที่ …) พ.ศ. … (ร่างระเบียบเข้าทำประโยชน์ฯ) และ 3) ร่างระเบียบ คปก. ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการให้กู้ยืมเงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและแก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน (ฉบับที่…) พ.ศ. … (ร่างระเบียบกู้ยืมเงินกองทุนฯ)
โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบการแก้ไขปรับปรุงเกี่ยวกับระเบียบฯ และเอกสารต่างๆ ซึ่งก่อนหน้านี้ ส.ป.ก. ได้ดำเนินการจัดรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) ระเบียบ คปก. ทั้ง 3 ฉบับ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว มีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 8,232 ราย และมีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นทั้งสิ้น 996 ราย ถือว่าเป็นไปตามกรอบระยะเวลาการดำเนินงานตามที่ได้วางแผนไว้ ซึ่งจากนี้ฝ่ายเลขานุการฯ จะเร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง และจะลงนาม ประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป ทั้งนี้ “จะเริ่ม Kick Off แจกโฉนดเพื่อการเกษตร ฉบับแรกพร้อมกันทั่วประเทศ ภายในวันที่ 15 ม.ค. 2567 อย่างแน่นอน”
อย่างไรก็ตาม การกำหนดพื้นที่เป้าหมายทั่วประเทศ ที่จะเปลี่ยนเป็นโฉนดเพื่อการเกษตรได้นั้น จะต้องเป็นแปลงที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และไม่มีการใช้ที่ดินผิดวัตถุประสงค์
ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายมีความกังวลว่าพื้นที่ ส.ป.ก. 4-01 ที่เปลี่ยนเป็นโฉนดเพื่อการเกษตร จะตกเป็นของกลุ่มนายทุนนั้น วันนี้ในที่ประชุมมีความเห็นว่าจะต้องมีการตรวจสอบ อะไรที่มันก้ำกึ่งเป็นของนายทุน ก็ไม่ควรออกโฉนดให้ โดยยืนยันว่า จะต้องมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดในการออกโฉนดเพื่อให้กับเกษตรกรผู้มีสิทธิ์จริงๆ
“อย่างที่ทราบกันว่า การถือครองโฉนด การเข้าทำกินในพื้นที่ ส.ป.ก. ซึ่งมีกลุ่มทุนอยู่เยอะ โดยเฉพาะที่ดินแปลงใหญ่ที่กลุ่มทุนเอาไปทำสัมปทาน ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคใต้ เช่น สัมปทานปาล์มน้ำมัน สวนยางพารา หรือแม้กระทั่งเหมืองแร่ต่างๆ ซึ่งนโยบายของตน คือ เมื่อหมดสัญญาสัมปทานแล้วจะยึดที่ดินคืนทันที และจัดสรรให้พี่น้องเกษตรกรในรูปแบบ ส.ป.ก. 4-01 เมื่อครบ 5 ปี ก็จะทำการเปลี่ยนเป็นโฉนดเพื่อ การเกษตร”