ก้าวที่กล้าของ “อรรถพล” บัณฑิตจบใหม่ DPU กับแบรนด์ห้องเสื้อชุดวิวาห์ “พระ-นาง”
ประสบการณ์เด็กต่างจังหวัดที่ไม่มีพื้นความรู้ด้านธุรกิจ แต่ใครเล่าจะไปคิดว่าชีวิตที่แค่รักชอบ “วาดรูป” จะถักทอให้ค้นพบเส้นความสำเร็จ พร้อมกับสัมผัสจับเงินหลักล้านบาทแรก ได้ในวันวัยอายุแค่ 23 ปี เท่านั้น
“ตูน-อรรถพล ธัญญเจริญ” ผู้ริเริ่มก่อตั้ง “ATTHAPOL อรรถพล” ภายใต้ห้องเสื้อ “พระ-นาง” เป็นเวลาเพียง 11 เดือน แต่ตอนนี้คิวแน่นแบบเช้าไม่เว้นเย็นไม่ว่าง เสียงเรียกเข้าโทรศัพท์จองชุดยังดังพอๆ กับกริ่งระฆังลั่นประตูวิวาห์ในฤดูเทศกาลงานแต่งงาน
อะไรที่ทำให้เด็กโนเนมคนหนึ่ง? กลายเป็นที่ไว้วางใจของสุภาพสตรี ยิ่งโดยเฉพาะกับ “ชุดเจ้าสาว” ที่ทั้ง ชีวิตแทบจะมีหนเดียว ที่เปิดโอกาสให้ดีไซเนอร์ที่ไว้ใจที่สุดเป็นผู้เนรมิตสร้างสรรค์ คงไม่มีใครตอบได้ดีไปกว่าเจ้าตัวซึ่งบัดนี้รอที่จะเล่าเรื่องราวของการเดินทางแบบด้นย้อนถอยหลังถึงจุดเริ่มต้นความมหัศจรรย์นี้
หนุ่มหน้าใสวัย 23 เป็นทั้งเจ้าของห้องเสื้อรับตัดชุดเจ้าสาวชื่อ “พระ นาง” กับผู้สร้างแบรนด์เสื้อผ้า “อรรถพล” เพิ่งจะเข้ารับพิธีประสาทปริญญาบัตรเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมานี้ โดยชีวิตวัยรุ่น “ก็เหมือนเด็กทั่วๆไป เช้าต้องไปเรียน ตกเย็นมาทำการบ้านและส่งงานอาจารย์”
ขณะที่ในช่วงเล็กวัยเด็กน้อย “ตูน” เล่าด้วยรอยยิ้มว่า รักชอบที่จะขีดเขียนเล่นวาดรูปโดยเฉพาะรูปคน เพราะในทุกครั้งการที่ได้ร่างภาพ ตูนจะรู้สึกมีความสุข และสัมผัสได้ถึงอุ่นไอจากฝ่ามือแม่ ที่ตลอดเวลาช่วงที่ยังมีชีวิตมักจะชี้แนะสอนและจับมือน้อยคู่นี้ลากเส้นอยู่เสมอเป็นประจำ ซึ่งนั้นทำให้ตูนชอบวาดเรื่อยๆ ก่อนจะหลงใหลในงานศิลปะและกำหนดเป้าหมายเส้นทางในชีวิตต้องทำงานทางด้านนี้
“ช่วง ม.6 ที่จะต้องเลือกเรียนต่อ ตอนนั้นก็ดูว่าจะเรียนคณะอะไรดี ทีนี้เพื่อนก็มาชวนไปเรียนที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เราเห็นว่ามีคณะศิลปกรรมศาสตร์ เอกแฟชั่น ที่เราจะได้ออกแบบวาดรูปหุ่นใส่เสื้อผ้า ก็เลยได้ตามเค้ามา”
แต่ผลของมันไม่ใช่แค่นั้น การเติบโตในรั้วของ “มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์” หรือ “DPU” ตูนบอกว่าก็ดีและเหมาะสมตรงตามชื่อ คือไม่เพียงที่ตูนจะได้ตวัดมือกรีดกรายทำในสิ่งที่ชอบ ที่นี้ยังช่วยต่อยอดให้ตูนได้ทำในสิ่งที่รักอย่างมั่นคง “พอได้มาเรียนก็ไม่ได้ทำให้ผิดหวัง สมชื่อ ม.ธุรกิจฯ จริงๆ”
โดยการออกแบบหลักสูตรซึ่งต่างไปจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ ทำให้เด็กต่างจังหวัดที่มีฐานะทางบ้านไม่ได้ร่ำรวยอย่างตูน มองเห็นคุณค่าในตัวเองว่า “เรานั้น” ล้วนเป็นได้มากกว่าสไตล์ลิส ดีไซเนอร์ หรือคนตัดเย็บเสื้อผ้า ภายใต้การมีสังกัดแบรนด์และห้องเสื้อคนอื่นๆ
“มันดูมีแค่นั้นเหรอ แล้วเราจะโชคดีได้วาดรูปคนอีกไหม? ก็แอบหวั่น เพราะพอเราโตขึ้นเราได้เห็นคนแถวบ้านที่ทำงานประจำนานๆ เป็น 10 ปี มันทำให้มีทุกอย่างได้ก็จริง ไม่ว่าจะเงิน รถ บ้าน แต่มันไม่เหลือพอที่เราให้เราไปไหนต่อไหนหรือทำตามใจที่เราชอบได้บ่อยและตลอด แต่พอลงเรียนที่นี้เปิดเทอมมา ตารางสอนออกเอ้ย…มีสอนธุรกิจด้วยควบคู่กับแฟชั่น และพอมีกิจกรรมอาจารย์ก็เชิญรุ่นพี่ที่จบไปแล้ว ที่ทำกิจการของตัวเองมาพูดให้ฟังตลอด มันก็กระตุ้นให้เรามีไฟ ทำให้ตูนอยากทำบ้าง”
โดย 4 ปี หลังเรียนจบในเดือนมกราคม 2566 ที่สำเร็จการศึกษา “ตูน” กับเพื่อนคนที่ชวนกันเข้ามหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จึงร่วมกันลงขันเปิด “Wedding Studio” ซึ่งตลอดระยะเวลาเพียงแค่ 11 เดือนที่เริ่มกิจการ ณ เวลานี้ผลประกอบการของทั้งสองคนสามารถสร้างยอดขายทำรายได้ไปแล้วกว่า 1 ล้านบาท
“ก่อนจะจบจะมีวิชาที่ให้เราสำรวจตลาดในด้านที่เรียน ลูกค้าสนใจชุดงานแต่งแบบไหน มีความต้องการชุดงานแต่งอย่างไรบ้าง 1-2-3 นอกจากการตลาดเบื้องต้นในตั้งแต่ปี 1 ค่อยๆ ไล่ระดับมากเรื่อยๆ อาจารย์ก็จะให้เราไปเดินที่โซนสยาม มีกี่ห้างเดินให้หมด ดูราคา ดูหน้าร้าน ดูให้ออกว่าพ่อค้าแม่ค้าเขาทำยังไงถึงอยู่ได้และมีลูกค้าเข้าร้านตลอด เราก็เอาตรงนั้นมาต่อยอด ซึ่งเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา 30 วันเต็มไม่มีว่างเลย พีคที่สุดคือทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายได้ทั้งหมด 3 แสนกว่าบาท ถ้านับยอดรวมๆ ก็ตีได้ 1 ล้านบาทแล้วตอนนี้”
“แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นถามว่าประสบความสำเร็จเลยไหม คนภายนอกอาจจะมองว่าสำเร็จแล้ว แต่ส่วนตัวเรามองว่ายังไม่สำเร็จทั้งหมด เพิ่งจะเริ่มแค่ก้าวที่ 2 กับก้าวที่ 3 เพราะต้องเอาเงินที่ได้ในส่วนนี้ไปชดเชยที่ลงทุนไว้ก้อนแรกคนละ 2 แสนกับต่อยอดร้าน แต่ตอนนี้ก็รู้สึกภูมิใจที่ความฝันความชอบเราเลี้ยงตัวเราเองได้แล้วก็พอมีเงินเหลือจ่ายค่าน้ำ-ไฟ ดูแลยายกับพ่อที่บ้าน ก็โอเคแล้วครับ”
เจ้าของสตูดิโองานแต่งชี้จุดชัดๆ กระชับที่ทำให้ธุรกิจเติบโตนั้นเรียบง่าย คือ “ใส่ใจ” ซึ่งเหมือนสไตล์การออกแบบชุดที่เมื่อลูกค้าได้ลองสวมใส่จะรับรู้ได้ถึงพลังที่ Sexy และ Classic อันเป็นเอกลักษณ์จุดเด่นของร้าน ที่ได้มาจาก “เอาลูกค้าเป็นที่ตั้ง”
“เคล็ดลับแรกก่อนจะตัดนอกจากเราจะต้องนัดล่วงหน้าอย่างต่ำ 3 เดือน เพื่อคุยรายละเอียดทั้งหมดอันนั้นปกติ แต่เราจะเรียกเจ้าสาวมาสัมภาษณ์ก่อนว่าอะไรคือความมั่นใจของคุณ อะไรคือความมั่นใจในตัวเอง และในระหว่างนั้นเราก็จะคอยดูจากสิ่งรอบข้างที่เขาเป็น เพื่อออกแบบให้เข้ากับตัวเขามากที่สุด เพราะงานตรงนี้ไม่ใช่แค่ชุดอย่างเดียวที่ทำให้คนสวย แววตาของเจ้าสาวต้องมั่นใจ มันถึงจะพราวและสวยแบบมีเสน่ห์ด้วย”
“ซึ่งจุดนี้ตูนก็ได้จากที่ DPU อีก” เขาเน้น ความละเอียดและการเป็นคนช่างสังเกตใส่ใจที่ค่อยๆ เกิดขึ้นในช่วงปีที่ 2 ที่จับความรู้สึกได้ว่าอาจารย์มักจะชมขึ้นมาแบบเปรยๆ แม้เรื่องเล็กๆ น้อยๆ อาทิเช่น การจับคู่สี ฯลฯ หรือการไปบอกให้ไปเตรียมตัวใหม่ให้ดีและมีสติ แล้วจึงค่อยมาพรีเซนต์งานนั้นเต็มไปด้วยความใส่ใจ กระทั่งกลายเป็นแบบอย่างที่ติดตัวตูน
“เราจัดโทนสีเพราะความชอบ แต่อาจารย์จำได้แสดงว่าอาจารย์ต้องใส่ใจกับนักศึกษามากๆ เหมือนรุ่นน้องที่ตูนรู้จัก ตูนรู้ว่าถ้าเขาทำงานต้องออกมาแนวแฟชั่นโลลิต้าเต็มองค์แน่ๆ และเมื่อไม่กี่เดือนตูนก็มีโอกาสไปแต่งหน้าให้นาง นางก็เล่าว่าอาจารย์ให้ทำงานแบบนั้นจริงๆ ทีนี้พอมองย้อนมาเราก็รู้สึกว่า การที่เป็นที่คนใส่ใจลูกค้า ส่วนหนึ่งได้มาจากอาจารย์ อารมณ์มันไม่ต่างไปจากการทำข้อสอบ ถ้าเราเคยลงมือทำถึงเวลาเราก็จะทำได้โดยไม่ต้องไปนั่งอ่านอีก เขาถึงได้บอกได้ว่าเราชอบอะไรหรือถนัดอะไร เพราะเขาใส่ใจมองดูเด็กๆ ทุกคน”
ถึงตรงนี้หลังจากลัดเลาะแง่มุมชีวิตและหลักคิดที่จะประสบความสำเร็จหรือไม่สำเร็จนั้นมีอะไรบ้างซุกซ่อนอยู่ “ตูน” แนะนำส่วนสุดท้ายสั้นๆ อีกเช่นเคยว่าคือ การกำหนดขนาด “ฝัน” ที่เราจะทำมันขึ้นมา
“เคล็ดลับที่สองสำหรับตูน เราต้องฝันให้สูง ฝันให้ใหญ่ เพราะถ้าเราฝันสูงหรือใหญ่ต่อให้เราไปไม่ถึงฝัน มันก็ยังดีกว่าการที่เราตั้งเป้าฝันไว้แบบแค่พื้นๆ ขั้น 2 ขั้น เราก็จะไปได้ถึงแค่ตรงนั้น ตรงกันข้ามถ้าเราฝันใหญ่ๆ เลยนะ ฝันให้ไปสูงๆ ไปเลย ต่อให้เราทำมันไม่ถึงมันก็ยังอยู่ที่ 4-5 ขั้นของฝัน”
“คือเราจะเข้าไกลและไปได้ไกลกว่า ซึ่งพอเรายังเด็ก ชีวิตเราอายุเท่านี้ เราจะไปกลัวอะไร ผิดมาครั้งหนึ่งก็แค่ผิด ครั้งหน้าเราก็ลองใหม่ได้ ขอแค่ลองทำก่อนที่จะพูดว่าไม่ได้” เขากล่าวทิ้งท้าย
และนี่ก็คือเรื่องราวของความกล้าและวิธีการย่อเอาความสำเร็จมาอยู่ตรงหน้า ซึ่งหากใครมี “ความฝัน” และกำลังลังเลว่าจะทำอย่างไร ช่วงปีใหม่ 2567 สิ่งต่างๆ เหล่านี้อาจจะเป็นหนึ่งในแง่มุมที่พอจะช่วยให้ได้ลองทำตามและสำเร็จไม่มากก็น้อย