สวทช. จับมือ ส.อ.ท. จัดทำฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของ “อุตสาหกรรมเหล็ก” มุ่งสู่ “NET ZERO” สนองรับนโยบาย “รัฐบาล”

สวทช. จับมือ ส.อ.ท. จัดทำฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของ “อุตสาหกรรมเหล็ก” มุ่งสู่ “NET ZERO” สนองรับนโยบาย “รัฐบาล”

วันที่ 9 ก.พ. 2567 ณ ห้อง Passion (802) ชั้น 8 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือการจัดทำฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก เพื่อรองรับมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ระหว่าง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กับ กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) จัดพิธีลงนามความร่วมมือในการทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับการใช้และการปล่อยพลังงานของการผลิตและกระบวนการต่างๆ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลสำคัญในการทำให้ประเทศไทยมีฐานข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อนำไปพัฒนาและปรับปรุงเสริมสร้างความแข็งแกร่ง และลดการปล่อย คาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งการลงนามในครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือในอุตสาหกรรมที่ 2 รองจากกลุ่มอุตสาหกรรมอลูมิเนียม ที่ได้มีการลงนามความร่วมมือไปแล้วก่อนหน้านี้

ขณะนี้ สถานการณ์ของโลกได้เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว นอกจากความท้าทายทางด้านการค้า และภูมิรัฐศาสตร์ อีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญ คือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ซึ่งทั่วโลกได้มีการรณรงค์ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ โดยเมื่อปีที่ผ่านมาทาง EU ได้ออกมาตรการที่เรียกว่า “CMAM” ซึ่งเป็นมาตรการกำหนดให้แต่ละอุตสาหกรรมที่มีการผลิตๆ ลดการปล่อย คาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิต หากปล่อยมากจะเสียค่าปรับมาก โดยได้มีการนำร่องประกาศเมื่อวันที่ 1 ตุ.ค. 2566 มีผลบังคับใช้ใน 5 อุตสาหกรรม ที่มีการใช้พลังงานและปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สูง รวมถึงอุตสาหกรรมเหล็กและอลูมิเนียมด้วย

 

“ดังนั้น 2 กลุ่มอุตสาหกรรมนี้จึงนำร่องในการรีบเร่งปรับตัว เพราะลูกค้าในการส่งออก คือ สหภาพยุโรป (EU) โดยจากข้อมูลมีการส่งออกประมาณ 2,500 ล้านบาทนับเป็น 4% ของยอดการผลิต ซึ่งอุตสาหกรรมเหล็กนับเป็นอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันค่อนข้างสูงทั่วโลก และมีความสำคัญมากเพราะเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานของหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า, ยานยนต์ รวมไปถึงภาคการก่อสร้างทุกประเภท รวมทั้งสาธารณูปโภค แต่วันนี้การแข่งขัน ไม่ใช่เฉพาะเรื่องคุณภาพหรือราคา แต่ยังมีเรื่องของการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ นำไปสู่การผลิตเหล็กสีเขียว หรือ Green Steel”

ด้าน รศ.ดร.เติมศักดิ์ ศรีคิรินทร์ ผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) กล่าวว่า ขอบคุณอุตสาหกรรมเหล็กสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่ให้ความไว้วางใจ MTEC สวทช. ในฐานะหน่วยงานวิจัยหน่วยหนึ่งของประเทศที่ให้เข้ามาช่วยดูแล จัดการทางด้านการเปลี่ยนผ่านไปสู่แนวทางในการปรับปรุงการผลิตให้มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยในขั้นแรกเป็นขั้นตอนของการปรับตัวให้เข้ากับมาตรการต่างๆ หลังจากนั้นจึงเป็นการพัฒนากระบวนการผลิต ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มทำการพูดคุยถึงโอกาสในการสร้างความร่วมมือ เพื่อเป็น NET ZERO ในวันข้างหน้า ก่อนเข้าสู่การวิจัยและการผลิตต่อไป

ขณะที่ นายนาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ส.อ.ท. กล่าวว่า กลุ่มเหล็กของประเทศไทย มีกำลังการผลิตทั้งสิ้น 25 ล้านตัน โดยในการผลิตเหล็กทุกตันต้องมีการปล่อยคาร์บอน หรือมีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การได้ร่วมมือกับ MTEC สวทช. จะทำให้ได้ฐานข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ ว่าการผลิตเหล็กแต่ละประเภทปล่อยคาร์บอน หรือกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง เพื่อที่จะสามารถนำมาพัฒนากระบวนการผลิต หรือการจัดหาวัตถุดิบในการลดการปล่อยก๊าซที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญฐานข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์กับทาง ส.อ.ท.และประเทศชาติ ในการกำหนดนโยบายเพื่อส่งเสริมการพัฒนากระบวนการผลิตในอุตสาหกรรม โดยการลงนามครั้งนี้ได้จัดทำฐานข้อมูล 7 ฐานข้อมูล ประกอบด้วย ฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์เหล็กทรงยาว 2 ฐานข้อมูล และผลิตภัณฑ์เหล็กทรงแบน 5 ฐานข้อมูล ซึ่งเป็นการจัดทำฐานข้อมูลที่ค่อนข้างเยอะและกว้าง ที่จะสามารถเป็นตัวแทนของ ผลิตภัณฑ์ต่างๆได้ครบถ้วนที่ผลิตในประเทศไทย โดยมั่นใจ ว่า การลงนามร่วมกันในครั้งนี้จะเป็นผลประโยชน์ไม่ใช่แค่ตอบสนองการค้าที่ CBAM หรือ EU กำหนด แต่ยังเป็นผลประโยชน์ต่อการพัฒนากระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กไทย และเป็นประโยชน์ต่อการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของประเทศชาติด้วย ทั้งนี้ “ส่วนหนึ่งคาดหวังว่า หากภาครัฐให้การสนับสนุนที่ดี ทันและเพียงพอ จะสามารถช่วยเร่งกระบวนการลดคาร์บอนได้เร็วยิ่งขึ้น”

นอกจากนี้ นายนาวา ยังกล่าวถึงการนำพลังงานทางเลือกมาใช้ในการผลิตเหล็ก อาทิ พลังงานไบโอ การปลูกหญ้าเนเปียร์ และสาหร่ายสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล รวมถึงศึกษาร่วมกับประเทศที่มีความรู้ในเรื่องของพลังงานไฮโดรเจน เพื่อนำมาใช้ในอนาคต แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับต้นทุนและความเหมาะสมของเทคโนโลยีด้วย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Next Post

"ธรรมนัส" หนุน "ใช้แอปฯตรวจสอบธุรกรรมการเงินสหกรณ์เกษตร" มุ่งสู่ความ "ทันสมัย โปร่งใส ตรวจสอบได้" พร้อมเร่งหาแนวทางแก้ปัญหาพื้นที่ "นิคมสหกรณ์" ทั่วประเทศ

“ธรรมนัส” หนุน “ใช้แอปฯตรวจสอบธุ […]

You May Like

Subscribe US Now