อรวรรณ บุตรโพธิ์ จอมพลังสาวทีมชาติไทย ทำผลงานเฉียบซิวเหรียญเงิน รุ่น 73 กก. หลังยกทำสถิติ 105 กก. พร้อมจ่อคว้าตั๋วไปพาราลิมปิกเกมส์ที่ญี่ปุ่น หากในศึกยกเหล็กชิงโควต้าพาราลิมปิกเกมส์ สนามสุดท้ายที่ดูไบ ไม่มีนักกีฬคนไหนยกทำสถิติแซงสถิติ 105 กก. ของเธอได้ ส่วนใน รุ่น 72 กก. ชาย ทองสา มารศรี ตัวเต็งที่ยกทำสถิติเพื่อคว้าโควต้าไปแข่งพาราลิปิกเกมส์อีกคนของไทย พลาดท่า เรียกน้ำหนักครั้งแรก 180 แต่ยกไม่ผ่านทำ 3 ครั้ง ทำให้ชวดทั้งตั๋วพาราลิมปิกเกมส์ และ ชวดทั้งเหรียญรางวัลในศึกยกน้ำหนักคนพิการนานาชาติ รายการ “Bangkok 2021 World Para Powerlifting World Cup” วันที่สอง
การแข่งขันกีฬายกน้ำหนักคนพิการนานาชาติ รายการ Bangkok 2021 World Para Powerlifting World Cup” ระหว่างวันที่ 6 – 10 พฤษภาคม 2564 ซึ่งเป็นการควอลิฟายเก็บแรงกิ้งเพื่อสิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนสิงหาคม 2564 โดยมีการจัดการแข่งขัน ที่ โรงแรมโนโวเทลสุวรรณภูมิ แอร์พอร์ต ภายใต้การสนับสนุนจาก บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด, กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ, การกีฬาแห่งประเทศไทย และ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) โดยมี มีนักกีฬาจาก 9 ประเทศ ได้แก่ คาซัคสถาน ตุรกี มาเลเซีย อินโดนิเซีย อิหร่าน อิรัก จอร์เจีย เบนิน และประเทศไทย เจ้าภาพ ร่วมทั้งสิ้น 65 คน เข้าร่วมชิงชัย ภายใต้มาตรการ กำกับควบคุมของทีมงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข จากกรมควบคุมโรค ที่จะเข้าไปกำกับดูแลควบคุมตลอดช่วงการจัดการแข่งขันอย่างเข้มงวด
ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 พ.ค.64 เป็นการชิงชัยในวันที่สอง ไฮไลต์อยู่ที่ รุ่น 73 กก. หญิง ที่มี อรวรรณ บุตรโพธิ์ จอมพลังสาวทีมชาติไทย ซึ่งเป็นตัวเต็งที่มีโอกาสลุ้นทำสถิติผ่านเพื่อคว้าสิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ 2020 โดยมี ซิเบล แคม นักกีฬาจากตุรกี และ โซนา อากอน จากมาเลเซีย ทำให้การชิงในรุ่นนี้เป็นอย่างสนุก โดย อรวรรณ จอมพลังสาวไทย ออกมาเรียกน้ำหนักเหล็กเป็นคนที่ 2 โดยเรียกครั้งแรกที่ 100 กก. ยกผ่าน ก่อนครั้งที่สองเรียกน้ำหนักที่ 105 กก.และยกผ่านแบบสบายๆ แต่ในครั้งที่ 3 เรียกน้ำหนักที่ 110 กก. แต่ยกไม่ผ่าน ก่อนที่ ซิเบล แคม จอมพลังสาวตุรกี ที่ออกมายกเป็นคนสุดท้ายหลังเจ้าตัวเรียกน้ำหนักครั้งแรก 125 กก.และยกผ่านแบบสบายๆ ขึ้นแทนอันดับ 1 ได้ทันที ก่อนที่ ครั้งที่ 2 และ 3 จะเรียกน้ำหนักที่ 128 แต่ยกไม่ผ่าน อย่างไรก็ดี สถิติการยกครั้งแรก 125 กก. ยังทำให้ จอมพลังสาวตุรกี คว้าเหรียญทองในรุ่นนี้ไปครอง ส่วน อรวรรณ บุตรโพธิ์ ได้เหรียญเงิน ด้วยสถิติ 105 กก. และ อันดับ 3 เป็นของ โซนา อากอน ยกได้ 90 กก.
อย่างไรก็ดีจากสถิติ 105 กก. ดังกล่าวที่ อรวรรณ บุตรโพธิ์ จอมพลังสาวทีมชาติไทย ทำได้ในครั้งนี้ ทำให้ มีลุ้นที่จะคว้าสิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ 2020 หากการแข่งขันชิงตั๋วพาราลิมปิกเกมส์ สนามสุดท้าย ที่ นครดูไบ ประเทศ สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ไม่มีนักกีฬาคนใดทำสถิติ 105 กก. แซงสถิติของ อรวรรณ ลงได้
ขณะที่ รุ่น 72 กก. ชาย ซึ่งมี ทองสา มารศรี ตัวเต็งที่ยกทำสถิติเพื่อคว้าโควต้าไปแข่งพาราลิปิกเกมส์ และ ธนวัฒน์ แข่งขัน ลงชิงชัยแย่งเหรียญรางวัลกับจอมพลังหนุ่มอีก 4 ชาติ อย่าง มาเลเซีย, เบนิน, อิหร่าน และ คาซัคสถาน ผลปรากฎว่าเป็นที่น่าเสียดาย ทองสา มารศรี ตัวเต็งจากประเทศไทย ทำผลงานได้ไม่ดีเอาเสียเลย หลังเรียกน้ำหนักครั้งแรก 180 กก. แต่กลับยกไม่ผ่านทั้ง 3 ครั้ง ทำให้พลาดเหรียญรางวัลและโควต้าไปร่วมพาราลิมปิกเกมส์ในครั้งนี้ไปโดยปริยาย ส่วนเหรียญทองของรุ่น ตกเป็นของ บันยัวร์ กัสติน จาก มาเลเซีย สถิติ 226 กก.เหรียญเงิน นาเดอร์ โมราดี้ จาก อิหร่าน สถิติ 204 กก. และ เหรียญทองแดง อเล็กซานเดอร์ ดาสคอฟ สถิติ 140 กก.
ขณะที่ผลงานรุ่นอื่นของทีมจอมพลังหนุ่ม-สาวทีมชาติไทย ก็สามารถทำผลงานได้ดีคว้าเหรียญรางวัลมาครองได้อีก 1 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดง โดยผลมีดังนี้ รุ่น 41 กก. หญิง อันดับ 1 เนการ์ วิเดียซิห์ (อินโดนีเซีย) สถิติ 96 กก., รุ่น 45 กก. หญิง อันดับ 1 กมลพรรณ กระราชเพชร (ไทย) สถิติ 65 กก.,อันดับ 2 ณัฎฐธิดา สุชาติพงศ์ (ไทย) สถิติ 40 กก., รุ่น 55 กก. หญิง อันดับ 1 เบสรา ดูมาน (ตุรกี) สถิติ 124 กก., รุ่น 61 กก. หญิง อันดับ 1 ยาสมิน เซลันเบย์ดรา (ตุรกี) สถิติ 110 กก., อันดับ 2 หัด โหมดนอก (ไทย) สถิติ 80 กก., อันดับ 3 พิกุล พลโต (ไทย) สถิติ 75 กก.
สำหรับโปรแกรมการแข่งขันในวันที่ 8 พ.ค. 2564 โดยจะมีการชิงชัย ทั้งสิน 7 รายการ คือ รุ่น 79 กก. หญิง , รุ่น 86 กก. หญิง, รุ่น 86 กก.ขึ้นไป หญิง, รุ่น 88 กก. ชาย, รุ่น 97 กก. ชาย , รุ่น 107 กก. ชาย และ รุ่น 107 กก. ขึ้นไป ชาย